ระบบติดตามและประเมินผลโครงการ ( M&E Thailand )

directions_run

โครงการประเมินผล การจัดการปัจจัยเสี่ยง อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผลการดำเนินโครงการ

สรุปผลการดำเนินโครงการ

ผลการดำเนินโครงการ/กิจกรรม:
บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
บรรลุตามวัตถุประสงค์บางส่วนของโครงการ
ไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

การประเมินผลโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนฯ ดำเนินการประเมินด้วยการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) โดยใช้กระบวนการ 4 ขั้นตอน คือ การกลั่นกรองโครงการหรือกิจกรรมโดยสาธารณะ (public screening) การกำหนดขอบเขตการศึกษาโดยสาธารณะ (public scoping) การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (public assessing) และการทบทวนร่างรายงานผลการศึกษาโดยสาธารณะ (public review) ซึ่งในขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการหรือกิจกรรมโดยสาธารณะ (public screening) พบว่า การดำเนินโครงการมีความสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่และมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ที่มุ่งสนับสนุนให้กลุ่มหรือองค์กรชุมชนสามารถดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรคให้แก่สมาชิกหรือประชาชนในพื้นที่ (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, 2557) และสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ระหว่างปีงบประมาณ 2561-2563 คือ แผนควบคุมยาสูบ และแผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2561) นอกจากนี้ การดำเนินโครงการของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ยังส่งผลให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาและการดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น (สอดคล้องกับการศึกษาของ สุริยะ วงศ์คงคาเทพ และคณะ, 2553) ทั้งนี้ การดำเนินงานประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ดังนี้ 6.1 การสร้างทีมพี่เลี้ยง เป็นการดำเนินงานในรูปแบบเดียวกับการติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาสุขภาวะชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมีพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาและดูแลในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ (สอดคล้องกับการศึกษาของ ฮามีด๊ะ หวันนุรัตน์, 2557) ดำเนินการโดยการคัดเลือกจากคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ และมีทักษะในการเป็นพี่เลี้ยง โดยคำนึงถึงสมรรถนะของตัวบุคคลที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการบริหารงานจริง ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับของกองทุนมาปฏิบัติหน้าที่ (สอดคล้องกับการศึกษาของ มัณฑนา อินทรสุภา และวิภวานี เผือกบัวขาว, 2560) และมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเป็นพี่เลี้ยงดูแลในภาพรวม ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ได้เป็นอย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะประเด็นความครอบคลุมของการนิเทศงานและโอกาสในการเข้าถึง (สอดคล้องกับการศึกษาของ สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ และคณะ, 2554) และก่อนการดำเนินงานของทีมพี่เลี้ยงจำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพให้กับทีมพี่เลี้ยง เพื่อปรับทัศนคติและความเข้าใจในการดำเนินโครงการให้ตรงกัน โดยมีทีมงานวิทยากรจากสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพ (สอดคล้องกับการศึกษาของ ฮามีด๊ะ หวันนุรัตน์, 2557)
บทบาทของทีมพี่เลี้ยงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้การดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะการร่วมจัดทำแผนกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งจะต้องดำเนินการกำหนดเป้าหมาย นโยบาย และแผนงานในการดำเนินงานอย่างชัดเจน (สอดคล้องกับการศึกษาของ มัณฑนา อินทรสุภา และวิภวานี เผือกบัวขาว, 2560) และการเข้าร่วมประชุมในเวทีต่างๆ ถือเป็นการสื่อสารข้อมูลออกสู่ภายนอกไปสู่กลุ่มองค์กรและประชาชน โดยเฉพาะการสื่อสารในกลุ่ม อสม.จะสามารถกระจายข่าวได้คลอบคลุมทุกพื้นที่และรวดเร็ว (สอดคล้องกับการศึกษาของ ธีระศักดิ์ กิตติคุณ, 2556) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจกับกลุ่มองค์กรและประชาชนถึงแนวทางและขั้นตอนการจัดทำโครงการ เสนอโครงการ รายงานผลโครงการให้เข้าใจถูกต้องชัดเจน (สอดคล้องกับการศึกษาของ มัณฑนา อินทรสุภา และวิภวานี เผือกบัวขาว, 2560) ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนโครงการได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ หน้าที่สำคัญของทีมพี่เลี้ยง คือ การเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาโครงการ การเขียนโครงการ วิเคราะห์ข้อมูลสภาพชุมชน เนื่องจาก องค์กรชุมชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนโครงการที่ถูกต้อง จนทำให้มีการแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำอีก และอาจจะส่งผลให้องค์กรชุมชนเกิดความท้อถอยที่จะดำเนินโครงการต่อ รูปแบบการหนุนเสริมของทีมพี่เลี้ยงมีการแบ่งโซนตามลักษณะภูมิศาสตร์ ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือองค์กรชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะทีมพี่เลี้ยงที่มาจากการคัดเลือกคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ที่มาโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สอดคล้องกับการศึกษาของ ธีระศักดิ์ กิตติคุณ, 2556) ซึ่งมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับองค์กรชุมชนในพื้นที่อยู่แล้ว 6.2 การพัฒนาศักยภาพกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ สามารถจำแนกกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความพร้อม และกลุ่มที่ต้องพัฒนา โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานตามโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนฯ พบว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ กลุ่มที่มีความพร้อม ประธาน คณะกรรมการ และเลขานุการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ มีความเข้าใจในบทบาทและเงื่อนไขในการดำเนินงาน ส่งผลให้มีการสมทบงบประมาณเพิ่มเติมในสัดส่วนที่สูงขึ้น มีการจัดทำแผนการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ที่มีเป้าหมาย นโยบาย และแผนงานในการดำเนินงานอย่างชัดเจน (สอดคล้องกับการศึกษาของ มัณฑนา อินทรสุภา และวิภวานี เผือกบัวขาว, 2560) มีคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการและติดตามโครงการ (สอดคล้องกับการศึกษาของ ธีระศักดิ์ กิตติคุณ, 2556) ตลอดจนทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรองโครงการเพื่อปรับแก้ให้โครงการมีความสมบูรณ์ ก่อนนำเข้าคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ พิจารณาอนุมัติ โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงด้านงานสาธารณสุขจะช่วยให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น (สอดคล้องกับการศึกษาของ มัณฑนา อินทรสุภา และวิภวานี เผือกบัวขาว, 2560) นอกจากนี้ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ยังสามารถทำให้การดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ กลุ่มที่ต้องพัฒนา พบว่า ประธาน คณะกรรมการ และเลขานุการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ยังไม่มีความเข้าใจในบทบาทและเงื่อนไขในการดำเนินงาน ตลอดจนขาดความรู้และทักษะในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ (สอดคล้องกับการศึกษาของ ธีระศักดิ์ กิตติคุณ, 2556) จึงส่งผลให้มีการอนุมัติโครงการที่ล่าช้าและไม่สามารถบริหารจัดการงบประมาณภายใต้ระเบียบทางการเงินที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ กลุ่มที่ต้องพัฒนายังไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพโดยใช้เงินงบประมาณประเภทที่ 4
6.3 การพัฒนาโครงการ หลังจากดำเนินโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนฯ พบว่า มีโครงการที่ขอสนับสนุนงบประมาณเข้ามาในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 8 โครงการ แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนฯ เนื่องจาก โครงการที่เสนอเข้ามายังมีความคล้ายคลึงกับโครงการเดิมที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดำเนินการอยู่ (สอดคล้องกับการศึกษาของ สุริยะ วงศ์คงคาเทพ และคณะ, 2553) สำหรับนโยบายและตัวชี้วัดการดำเนินงานระดับจังหวัด พบว่า ยังไม่มีการผลักดันเข้าสู่ระดับจังหวัด มีเพียงการผลักดันเข้าสู่ระดับอำเภอเท่านั้น เนื่องจาก การดำเนินโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนฯ มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของอำเภอบ้านนาสารอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการกระจายลงไปสู่การดำเนินงานไปสู่คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอและระดับตำบลต่อไปด้วย
ฐานข้อมูลที่ใช้ในการดำเนินงาน พบว่า มีฐานข้อมูลเฉพาะผู้สูบบุหรี่เท่านั้น โดยใช้ฐานข้อมูลของโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนฯ เป็นเพียงการบูรณาการการใช้งานระบบฐานข้อมูลเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการระบบบริการคลินิกอดบุหรี่ขึ้นในโรงพยาบาลบ้านนาสาร และขยายไปยังพื้นที่โดยแบ่งเป็น 4 โซนตามลักษณะภูมิประเทศ โดยแต่ละโซนจะมีพยาบาลวิชาชีพเป็นที่ปรึกษาในการเลิกบุหรี่ 6.4 การติดตามประเมินผลโดยการลงพื้นที่และรายงานผลผ่านเว็บไซต์ การมีระบบติดตามประเมินผลร่วมกันระหว่างคณะกรรมการติดตามประเมินผลของโครงการ และสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) ส่งผลดีทำให้ผู้เกี่ยวข้องตลอดจนพี่เลี้ยงสามารถติดตามโครงการได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก ภายในระบบมีการระบุช่วงเวลาการทำกิจกรรมโครงการอย่างชัดเจน (สอดคล้องกับการศึกษาของ ฮามีด๊ะ หวันนุรัตน์, 2557) แต่ปัญหาในการใช้ระบบติดตามประเมินผลอยู่ที่ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวคือ เมื่อมีการดำเนินโครงการไปแล้ว ผู้รับผิดชอบโครงการไม่มีการบันทึกข้อมูลลงในระบบติดตามประเมินผล ส่งผลให้ข้อมูลที่ผู้เกี่ยวข้องตลอดจนพี่เลี้ยงได้รับทราบผ่านทางระบบติดตามประเมินผลไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการใช้ข้อมูลประกอบการวางแผนพัฒนางานในอนาคตอีกด้วย เนื่องจาก เมื่อไม่มีการบันทึกข้อมูลจึงทำให้มองเห็นว่า ยังมีงบประมาณค้างท่ออยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ในความเป็นจริงมีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการไปเกือบหมดแล้ว

6.5 ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเด็นหลักที่มีความต้องการพัฒนา คือ การพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานและเงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งสามารถทำได้หลายช่องทาง โดยเฉพาะการอบรมคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ โดยหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกองทุนก็เป็นช่องทางที่สามารถช่วยพัฒนาความรู้และเพิ่มประสบการณ์ใหม่ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนของตนเอง (สอดคล้องกับการศึกษาของ อนงค์ แสนสุวรรณ, 2555; มัณฑนา อินทรสุภา และวิภวานี เผือกบัวขาว, 2560) และเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาอย่างก้าวกระโดด (สอดคล้องกับการศึกษาของ สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ และคณะ, 2554) ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีความต้องการให้ออกระเบียบกลางที่สามารถบังคับใช้ได้ทุกองค์การที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องยึดระเบียบเฉพาะองค์กรเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน เนื่องจาก ปัจจุบันมีระเบียบที่เกี่ยวข้องและต้องถือปฏิบัติอย่างน้อย 3 ระเบียบ คือ ระเบียบกระทรวงการคลัง ระเบียนเงินบำรุงสถานพยาบาล และระเบียบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในขั้นตอนการปฏิบัติก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนและยุ่งยากในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก 6.6 ผลกระทบต่อปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม (SDH) ซึ่งประกอบด้วย ปัจเจกบุคคล สิ่งแวดล้อม กลไกหรือระบบบริการสาธารณสุข พบว่า
กิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อปัจเจกบุคคล ประกอบด้วย การสร้างทีมพี่เลี้ยง การพัฒนาศักยภาพกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ และการพัฒนาโครงการ เนื่องจาก ในกิจกรรมข้างต้นจะต้องมีการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะ ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะเกี่ยวกับการดำเนินงานและเงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาระดับปัจเจกบุคคล กิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การสร้างทีมพี่เลี้ยง และการติดตามประเมินผลโดยการลงพื้นที่และรายงานผลผ่านเว็บไซต์ เนื่องจาก ในกิจกรรมข้างต้นก่อให้เกิดการดูแลและเป็นที่ปรึกษา และมีการติดตามประเมินผลซึ่งมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานเกิดความคล่องตัวและสะดวกในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อกลไกหรือระบบบริการสาธารณสุข ประกอบด้วย การสร้างทีมพี่เลี้ยง การพัฒนาโครงการ และการติดตามประเมินผลโดยการลงพื้นที่และรายงานผลผ่านเว็บไซต์ เนื่องจาก ในกิจกรรมข้างต้นเป็นการสร้างระบบเพื่อเอื้อต่อการดำเนินงาน เช่น ระบบทีมพี่เลี้ยงเพื่อเอื้อต่อการเป็นที่ปรึกษา ระบบช่วยพัฒนาโครงการโดยมีทีมพี่เลี้ยงคอยดูแลตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการ และระบบการติดตามประเมินผลโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อกลไกหรือระบบบริการสาธารณสุข

ผลผลิตโครงการ

วัตถุประสงค์สถานการณ์เป้าหมายผลผลิตอธิบาย
1 เพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการการจัดการปัจจัยเสี่ยง อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ตัวชี้วัด : ผลการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโครงการการพัฒนาศักยภาพฯ - รูปแบบการขับเคลื่อนโครงการ - ผลการประเมินโครงการ - ผลกระทบต่อปัจจัยกำหนดสุขภาพ
0.00

 

ผู้เข้าร่วมโครงการ

กลุ่มเป้าหมายจำนวนที่วางไว้(คน)จำนวนที่เข้าร่วม(คน)
จำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 40 40
กลุ่มเป้าหมายจำนวนที่วางไว้(คน)จำนวนที่เข้าร่วม(คน)
กลุ่มเป้าหมายจำแนกตามช่วงวัย
ปฐมวัย (0-5 ปี) -
วัยเรียน (6-12 ปี) -
วัยรุ่น (13-15 ปี) -
เยาวชน (15-20 ปี) -
วัยทำงาน -
ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) -
กลุ่มเป้าหมายจำแนกกลุ่มเฉพาะ
ผู้พิการ -
ผู้หญิง -
มุสลิม -
พระภิกษุ -
ชาติพันธุ์ -
ผู้ต้องขัง -
หลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) -
กลุ่มด้อยโอกาส (คนไร้บ้าน, เด็กเร่ร่อน, เด็กกำพร้า, เด็กในสถานพินิจ ฯลฯ) -
แรงงานข้ามชาติ -
อื่น ๆ -
ตัวแทนกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น 17 17
ตัวแทนองค์กรชุมชน 17 17
ทีมพี่เลี้ยงโครงการ 6 6

บทคัดย่อ*

การประเมินผลโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นเพื่อการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพจากสุรา ยาสูบ และยาเสพติด อำเภอบ้านนาสาร จังหวัด  สุราษฎร์ธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนฯ โดยใช้กรอบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ประกอบด้วยกระบวนการ 4 ขั้นตอน คือ การกลั่นกรองโครงการหรือกิจกรรมโดยสาธารณะ การกำหนดขอบเขตการศึกษาโดยสาธารณะ การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และการทบทวนร่างรายงานผลการศึกษาโดยสาธารณะ เน้นผลกระทบจากโครงการที่เกิดขึ้นกับปัจจัยกำหนดสุขภาพ ประกอบด้วย ปัจเจกบุคคล สภาพแวดล้อม และกลไกหรือระบบบริการสาธารณสุข ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนา มีผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบโครงการ ทีมพี่เลี้ยงโครงการ ตัวแทนกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ตัวแทนผู้ขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ และตัวแทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวบรวมข้อมูลด้วยแบบสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการประเมิน พบว่า การดำเนินโครงการมีความสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่และมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ โดยการดำเนินงานประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ 1) การสร้างทีมพี่เลี้ยงที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานและสื่อสารไปยังกลุ่มองค์ชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ตามเขตรับผิดชอบที่แบ่งออกเป็น 4 โซนตามลักษณะภูมิศาสตร์ 2) การพัฒนาศักยภาพกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ สามารถจำแนกกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความพร้อม พบว่า ประธาน คณะกรรมการ และเลขานุการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ มีความเข้าใจในบทบาทและเงื่อนไขในการดำเนินงาน ส่งผลให้มีการสมทบงบประมาณเพิ่มเติมในสัดส่วนที่สูงขึ้น มีการจัดทำแผนการดำเนินงานอย่างชัดเจน และมีคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการและติดตามโครงการอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มที่ต้องพัฒนา พบว่า ประธาน คณะกรรมการ และเลขานุการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ยังไม่มีความเข้าใจในบทบาทและเงื่อนไขในการดำเนินงาน ตลอดจนขาดความรู้และทักษะในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ จึงส่งผลให้มีการอนุมัติโครงการที่ล่าช้าและไม่สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้ 3) การพัฒนาโครงการ มีโครงการที่ขอสนับสนุนงบประมาณเข้ามาแต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากโครงการการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนฯ และยังไม่มีการผลักดันเข้าสู่ระดับจังหวัดมีเพียงการผลักดันเข้าสู่ระดับอำเภอเท่านั้น ส่วนฐานข้อมูลที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นการบูรณาการการใช้งานระบบฐานข้อมูลเท่านั้น และ 4) การติดตามประเมินผลโดยการลงพื้นที่และรายงานผลผ่านเว็บไซต์ พบว่า มีระบบติดตามประเมินผลส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องตลอดจนพี่เลี้ยงสามารถติดตามโครงการได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีปัญหา คือ ไม่มีการบันทึกข้อมูลลงในระบบติดตามประเมินผล ส่งผลให้ข้อมูลที่ผู้เกี่ยวข้องตลอดจนพี่เลี้ยงได้รับทราบผ่านทางระบบติดตามประเมินผลไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง สำหรับผลกระทบต่อปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม พบว่า กิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อปัจเจกบุคคล ประกอบด้วย การสร้างทีมพี่เลี้ยง การพัฒนาศักยภาพกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ และการพัฒนาโครงการ กิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การสร้างทีมพี่เลี้ยง และการติดตามประเมินผลโดยการลงพื้นที่และรายงานผลผ่านเว็บไซต์ และกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อกลไกหรือระบบบริการสาธารณสุข ประกอบด้วย การสร้างทีมพี่เลี้ยง การพัฒนาโครงการ และการติดตามประเมินผลโดยการลงพื้นที่และรายงานผลผ่านเว็บไซต์

หมายเหตุ *

  • บทคัดย่อ จะนำไปใส่ในส่วนบทคัดย่อของรายงานฉบับสมบูรณ์
  • หากต้องการใช้ค่าเริ่มต้นของบทคัดย่อ ให้ลบข้อความในช่องบทคัดย่อ ทั้งหมด แล้วกดปุ่ม Refresh